Google
 

Thursday, December 27, 2007

5 ข่าวเด่นอุตฯยานยนต์โลก'07

โดย ผู้จัดการออนไลน์
26 ธันวาคม 2550 15:16 น.
ปี 2007 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์ทั่วโลกมีความเคลื่อนไหวมากมาย ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย และนี่คือ 5 ข่าวดังที่ผ่านการคัดเลือกมา
1.ถึงเวลาสิ้นสุดยุค PAG
สัญลักษณ์แห่งความหรูของฟอร์ดภายใต้ชื่อ PAG หรือ Premier Automotive Group ของฟอร์ด ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของ ‘ดรีมทีม’ ระดับหรูอย่างแอสตัน มาร์ติน, วอลโว่, แลนด์โรเวอร์ และจากัวร์ ถึงคราวล่มสลายไปพร้อมๆ กับการเกิดสภาพวิกฤตของบริษัทแม่ หลังจากที่กลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นมาในทศวรรษที่ 1990 ภายใต้ยุคของประธานเก่าอย่างจากส์ แนสเซอร์
จุดเริ่มต้นของการแตกตัวเกิดขึ้นเมื่อทางฟอร์ดประกาศขายกิจการของแอสตัน มาร์ติน และอีก 2 บริษัทในเครือ คือ จากัวร์ และแลนด์โรเวอร์ ก่อนที่แบรนด์แรกจะถูกซื้อไปอย่างรวดเร็วโดยกลุ่มนักธุรกิจในอังกฤษ ซึ่งนำทัพโดยเดวิด ริชาร์ด ผู้ก่อตั้งบริษัทโปรไดร์ฟ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2007 ด้วยมูลค่า 848 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 29,000 ล้านบาท
จากนั้นก็มาถึงการเร่ขายกิจการของแลนด์โรเวอร์ และจากัวร์ ซึ่งฟอร์ดต้องใช้เวลานานมากในการค้นหาเนื้อคู่ เพราะจากการขายเป็นแพ็คคู่อย่างนี้ ทำให้ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไร แต่ก็ยังพอมีผู้ที่สนใจจริง ซึ่งประกอบไปด้วยตาตา และมหินธรา 2 บริษัทรถยนต์จากอินเดีย และอีกกลุ่มนักธุรกิจที่นำทัพโดยอดีตประธานเก่าอย่างแนสเซอร์ และนิก ชีลเล
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายจะถอนตัวออกไปแล้ว และเหลือเพียงแค่ตาต้าเท่านั้นที่ยังเดินหน้าเจรจาเกี่ยวกับการเทกโอเวอร์กิจการในครั้งนี้ และล่าสุดมีข่าวแถลงออกมาว่าตาต้าตกลงเทกโอเวอร์กิจการของทั้ง 2 บริษัทแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2007 ด้วยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 70,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการแถลงข่าวออกมาอย่างเป็นทางการจากทั้ง 2 ฝ่าย
ในขณะที่วอลโว่ ซึ่งฟอร์ดไม่มีนโยบายที่จะขายกิจการออกไป เพราะมีความเกี่ยวข้องในด้านวิศวกรรมการพัฒนากับรถยนต์ของฟอร์ดอยู่พอสมควรนั้น กลับเป็นแบรนด์เนื้อหอม เพราะมีข่าวว่าบีเอ็มดับเบิลยูให้ความสนใจที่จะเทคโอเวอร์ แต่สุดท้ายก็เป็นแค่ข่าวลือ
2.เมื่อเดมเลอร์ไม่มีไครสเลอร์
เป็นอีกข่าวที่โด่งดังมากในปี 2007 เมื่อเดมเลอร์ไครสเลอร์ประกาศขายกิจการของไครสเลอร์ คอร์ปอเรชันที่รวมกิจการและร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ปี 1996 ซึ่งการแยกทางในครั้งนี้มีกลุ่มบริษัทหลายแห่งเข้ามาประมูลเพื่อดึงกิจการของไครสเลอร์เอาไว้ ก่อนที่ทางเซอร์เบอรุส คอร์ปอเรชันจะเป็นผู้ชนะ
โดยทั้งเดมเลอร์ไครสเลอร์และเซอร์เบอรุสประกาศถึงเรื่องการซื้อขายหุ้นเสียงส่วนใหญ่จำนวน 80.1% ในครั้งนี้ซึ่งมีมูลค่า 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 244,200 ล้านบาทเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และใช้เวลาร่วม 2 เดือนครึ่งในการจัดการทุกขั้นตอนการโอนย้ายกิจการจากเดมเลอร์ไครสเลอร์มาอยู่ในมือเจ้าของใหม่
หลังจากแยกทางกันแล้ว ทางไครสเลอร์จัดการยกเครื่องครั้งใหญ่ ตั้งแต่การเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่มาเป็น Chrysler LLC. เพื่อทำหน้าที่ในการดูแลตลาดและจำหน่ายรถยนต์แบรนด์ไครเลอร์, จี๊ป และดอดจ์ ส่วนทางเดมเลอร์ก็จะเปลี่ยนจากเดมเลอร์ไครสเลอร์มาเป็น Daimler AG รวมถึงการกลับมาใช้โลโก้ดั้งเดิมของไครสเลอร์ คือ Pentastar อีกครั้ง หลังจากที่ถูกถอดเก็บเอาไว้ในช่วงที่มีการรวมกิจการกับเดมเลอร์เมื่อ 9 ปีที่แล้ว
ในส่วนของงานบริหาร ในตอนแรกมีข่าวว่าผู้บริหารของเซอร์เบอรุสจะดึงตัววูล์ฟแกง เบิร์นฮาร์ด อดีตผู้บริหารมือดีของไครสเลอร์ที่กำลังว่างงานเพราะเพิ่งลาออกจากโฟล์คสวาเกนมานั่งในตำแหน่งประธาน แต่สุดท้ายก็พลิกโผ เพราะตำแหน่งนี้ตกเป็นของนายโรเบิร์ต หรือบ็อบ นาร์เดลลี่ (Robert Nardelli) อดีตผู้บริการของ Home Depot ไปแทน
จากนั้นก็ช็อคระลอก 2 ด้วยการหว่านล้อมดึงตัวจิม เพรสส์มาจากโตโยต้า อเมริกาเหนือ ทั้งที่เมื่อปี2006 เพรสส์เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานของโตโยต้า อเมริกาเหนือ และเป็นผู้บริหารคนแรกที่ไม่ใช่ชาวญี่ปุ่นซึ่งขึ้นมาสูงในระดับนี้ อีกทั้งไครสเลอร์ยังดึงตัวผู้บริการและนักการตลาดมือดีอีกหลายคนมาจากโตโยต้า อเมริกาเหนือ เพื่อช่วยฟื้นฟูกิจการของไครสเลอร์
3.โตโยต้ากับความหวังสู่หมายเลข 1 ของโลก
โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชันมั่นใจ อีก 2 ปียอดขายรวมทั่วโลกเกิน 10 ล้านคันอย่างแน่นอน และด้วยตัวเลขในระดับนี้ทางผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นมั่นใจว่าจะสามารถโค่นบัลลังก์ของจีเอ็มที่ผงาดอยู่ในตลาดโลกมามากกว่า 70 ปีได้อย่างแน่นอน
คัตซึอากิ วาตานาเบ้ ประธานของโตโยต้าเปิดเผยว่า ทางบริษัทได้นำเป้าหมายนี้มารวมอยู่ในการสร้างกลยุทธ์ด้านการขยายตัวทางยอดขายของบริษัท โดยนอกจากการเพิ่มยอดขายแล้ว ทางโตโยต้าจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการยกระดับด้านคุณภาพของตัวผลิตภัณฑ์ และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เช่น ระบบไฮบริดรุ่นใหม่ที่จะนำมาใช้กับรถยนต์ของเล็กซัส ซึ่งโตโยต้ามั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นตลาดชั้นดี และปี 2009 จะสามารถทำยอดขายเกิน 10 ล้านคัน โดยอยู่ในระดับ 10.4 ล้านคันอย่างแน่นอน
‘ทุกโอกาสที่เปิดกว้าง เราจะพยายามพิชิตมันให้ได้ เราจะลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และพยายามเปลี่ยนความเสี่ยงเหล่านั้นให้กลายมาเป็นโอกาสสำหรับเรา’ นายวาตานาเบ้กล่าวที่งานแถลงข่าวโรงแรมแห่งหนึ่งที่โตเกียว
สำหรับภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายในการเพิ่มยอดขายของโตโยต้าครั้งนี้ นอกจากตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรปแล้ว โตโยต้ายังเล็งไปยังตลาดเกิดใหม่ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น จีน, รัสเซีย, อินเดีย และบราซิลอีกด้วย ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นก็จะพยายามคงสถานทั้งในเรื่องของส่วนแบ่งและตัวเลขยอดขายเอาไว้ไม่ให้ลดลงจากเดิม เพราะที่ผ่านมา แนวโน้มของตลาดรถยนต์ญี่ปุ่นมีแต่หดตัวลดเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม นายวาตาเบ้กล่าวปฏิเสธเมื่อถูกถามว่าแผนการแห่งความทะเยอทะยานในครั้งนี้ของโตโยต้าคือความต้องการที่จะลบสถิติในด้านยอดขายต่อปีที่ทางจีเอ็มทำเอาไว้เมื่อปี 1978 ซึ่งตอนนั้นผู้ผลิตรายใหญ่จากเมืองลุงแซมทำเอาไว้ได้ 9.55 ล้านคัน และเป็นสถิติยอดขายต่อปีที่ยังคงไม่มีใครลบลงได้มานานเกือบ 30 ปี
ปัจจุบัน โตโยต้าสามารถลดช่องว่างของตัวเลขยอดขายต่อปีที่แต่เดิมเคยถูกจีเอ็มทิ้งห่าง โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จเป็นผลมาจากความนิยมที่มีต่อรถยนต์รุ่นสำคัญอย่างคัมรี่ และพริอุสที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา และตลาดโลก โดยในปีที่แล้วยอดขายของโตโยต้ารวมถึงบริษัทในเครืออย่างไดฮัทสุมีตัวเลขอยู่ที่ 8.8 ล้านคัน ส่วนจีเอ็มอยู่ที่ 9.1 ล้านคัน
เป้าหมายปีนี้ของโตโยต้าคือ การทำยอดขายต่อปีขยับขึ้นมาเป็น 9.34 ล้านคัน และขยับเป็น 9.8 ล้านคันในปี 2008 ก่อนที่จะทะลุ 10 ล้านคันปี 2009 โดยปีนี้หากทางจีเอ็มยังไม่รีบพลิกตัวแก้ไขสถาน การณ์มีความเป็นไปได้สูงว่าจะสูญเสียตำแหน่งหมายเลข 1 ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะยอดขายรวมช่วงครึ่งปีแรก ทางจีเอ็มตามหลังโตโยต้าอยู่ ด้วยตัวเลข 4.674 ล้านคัน กับ 4.72 ล้านคัน
แต่เมื่อพิจารณาเรื่องของการผลิตแล้ว จีเอ็มยังเป็นผู้นำอยู่ โดยครึ่งแรกของปีนี้ผลิตรถยนต์ออกมา 4.75 ล้านคัน ส่วนโตโยต้าผลิตออกมาเพียง 4.71 ล้านคัน
4.ตลาดเกิดใหม่ที่ ‘อินเดีย’
จริงอยู่ที่ว่าจีนยังเป็นตลาดรถยนต์เกิดใหม่ที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปีนับจากนี้ แต่ทว่าผู้ผลิตรถยนต์หลายรายก็เริ่มมองหาตลาดแห่งใหม่ที่จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ด้านยอดขายได้เหมือนกับจีน โดยอินเดีย คือ คำตอบที่พวกเขากำลังมองอยู่
ในเรื่องของประชากรแล้ว ทั้งอินเดียอาจจะเป็นรองจีน แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก แต่ในเรื่องของแนวโน้มการขยายตัวและอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชากรกลับอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ซึ่ง Keystone บริษัทวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ในสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า อินเดียจะมีการขยายตัวของตลาดรถยนต์จนสามารถเติบโตขึ้นมายืนเป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ยอดจำหน่ายได้ภายในปี 2030
แน่นอนว่าความน่าสนใจของตลาดเหล่านี้ก่อให้เกิดการเทงบประมาณเพื่อลงทุนในระยะยาวของบริษัทรถยนต์ เช่น จีเอ็มประกาศเทงบประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 16,500 ล้านบาทสำหรับการใช้ในการพัฒนารถยนต์เพื่อประเทศที่เป็นตลาดรถยนต์เกิดใหม่เหล่านี้ รวมถึงการงัดโปรเจ็กต์ต่างๆ เพื่อใช้อินเดียเป็นฐานในการพัฒนารถยนต์รุ่นเล็กราคาประหยัด เช่น โฟล์คสวาเกนกับโปรเจ็กต์ Up! หรือ ซูซูกิกับต้นแบบรุ่น A-Star Concept ที่จะเริ่มขายในปีหน้า
5.สีเงินยังครองใจคนซื้อรถทั่วโลก
สีเงินยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าทั่วโลก เมื่อทาง PPG Industries ผู้ผลิตสีสำหรับรถยนต์รายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา จัดการสำรวจตัวเลขของสีรถยนต์ที่มีการผลิตออกสู่ตลาดในช่วงปี 2007 พบว่าสีเงินยังมาแรงเป็นอันดับ 1 ขณะที่สีดำอยู่ในอันดับที่ 2 เริ่มมีความนิยมเพิ่มมากขึ้น
จากรายงานฉบับนี้เปิดเผยว่า ในตลาดทั่วโลกนั้น รถยนต์ที่ใช้สีเงินอยู่ที่ 31.5% ลดลงจาก 33% ในปีที่แล้ว ส่วนสีดำตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วนที่ขยับเพิ่มขึ้นจาก 15.4% จากปี 2006 มาเป็น 18% ตามด้วยสีขาว (12.5%), น้ำเงิน (12.4%), แดง (8.8%) สีที่มาจากธรรมชาติ เช่น ทอง, ส้ม หรือน้ำตาล (6.6%) และสีอื่นๆ (5.9%)
ส่วนในตลาดอเมริกาเหนือก็มีอันดับที่ไม่แตกต่างจากตลาดโลก ซึ่งสีเงินยังเป็นหมายเลข 1 ที่ครองใจคนภูมิภาคนี้ ด้วยตัวเลข 22% ลดลง 2% จากปีที่แล้ว ส่วนสีขาวขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วยส่วนแบ่ง 16% เบียดสีดำให้หล่นลงไปอยู่อันดับที่ 3 (15%) ตามด้วยแดง (13%), น้ำเงิน (12%), สีที่มาจากธรรมชาติ เช่น ทอง, ส้ม หรือน้ำตาล (10%) และสีอื่นๆ (6%)
‘สีเงินยังเป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าและผู้ผลิตรถยนต์ก็เพราะเป็นสีที่เหมาะสมกับรถยนต์ และทำให้ดูทันสมัยอยู่เสมอ แล้วก็มีราคาขายต่อที่ดี’ เจน แฮร์ริงตัน ผู้จัดการของ PPG กล่าว
แฮร์ริงตันยังกล่าวอีกว่า จากการสำรวจผู้บริโภคที่เข้าร่วมงานดีทรอยต์ มอเตอร์โชว์ 2007 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่า 65% ของกลุ่มลูกค้าตัดสินใจเลือกรถยนต์ยี่ห้อที่มีตัวเลือกของเฉดสีมากกว่ารถยนต์ในระดับเดียวกันของยี่ห้อคู่แข่งที่มีตัวเลือกของสีน้อยกว่า

No comments: