Google
 

Saturday, May 1, 2010

เด็กมอญเล่าขาน ซังกรานนครชุมน์


ภาพเก่า ที่เก็บไว้ในลิ้นชักหรืออัลบั้มภาพจากแต่ละบ้าน นำมาปัดฝุ่นจัดวาง ปะติดปะต่อเรื่องราวเล่าขานความเป็นมาของบรรพชนโดยลูกหลานชาวมอญ

แม้ "ซังกราน" จะผ่านไปแล้ว แต่ความภูมิใจในวิถีมอญยังคงอิ่มอุ่นในหัวใจ ของเด็กๆ ชาวมอญ

เทศกาลซังกรานชาวมอญนครชุมน์ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 13-17 เม.ย.ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยความสนุกสนานรื่นเริงกับกิจกรรมงาน สงกรานต์ประจำปี 2553 ที่ทางวัดใหญ่นครชุมน์จัดขึ้น

งานครั้งนี้มี ทั้งขบวนแห่นางสงกรานต์-แห่ปลา การละเล่นพื้นบ้าน รำวงชาวบ้านย้อนยุค นิทรรศการอาหารมอญ พิธียกช่อฟ้าอุโบสถหลังใหม่ พิธีสรงน้ำพระ เล่นน้ำสงกรานต์ สนุกสนานไม่แพ้ทุกที่ในผืนดินไทย

กิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจในงานสงกรานต์ ครั้งนี้ คือ งานนิทรรศ การ "ณ นครชุมน์ : มองผ่านภาพ เรื่องเล่าขาน สืบตำนาน วิถีชีวิตมอญ" จัดโดยกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญนครชุมน์ โดยผสานความร่วมมือจากทางวัดใหญ่ นครชุมน์และคนในชุมชนเอื้อเฟื้อสถานที่และข้าวของร่วมจัดนิทรรศการ โดยมี นางพัชรินทร์ สมหอม และ นายพชระ โชติภิญโญกุล นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และ นายธีรยุทธ สังมิ สายเลือดมอญผู้จัดทำเว็บไซต์วัดใหญ่นครชุมน์ เป็นกำลังหลักสำคัญ และชักชวนเด็กๆ ชาวมอญมาร่วมสร้างสรรค์งาน ผสานช่องว่างระหว่างกาลเวลา



รูป แต่ละรูป ภาพแต่ละภาพ เล่าขานวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนนครชุมน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายมอญที่อาศัยรวมกลุ่มกับชาติพันธุ์ อื่น ไม่ว่าจะเป็นไทย ลาว เขมร ผ่านภาพถ่ายทั้งในอดีตและปัจจุบัน สารคดีบอกเล่าเรื่องราวของคนในชุมชน และเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ข้าวของต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่

คนหนุ่มคนสาวพาผู้เฒ่าผู้แก่กลับมาย้อนรำลึก บอกเล่าเรื่องราวในภาพที่บ้านตนเองนำมาจัดแสดง พร้อมกับดูภาพเก่าจากบ้านอื่นที่นำมาร่วมแลกเปลี่ยนแบ่งปันวันวาน

โดย มีเสียงใสๆ ของคนรุ่นใหม่เข้ามาซักถามพูดคุย ก่อเกิดรอยยิ้ม ถักทอสายใยจากวันวานสู่ปัจจุบัน

เสียงพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวในอดีตกาล ภาพบุคคล ภาพงานประเพณีในชุมชน อาทิ ประเพณีบวชมอญ เปิงซังกราน หรือประเพณีส่งข้าวแช่ของชาวมอญ งานบุญจองโอะห์ต่าน หรืองานบุญกลางเดือนสาม ภาพสถานที่แห่งความทรงจำ อาทิ หาดทราย วิหารปากี ศาลเจ้าพ่อช้างพัน

นอกจากภาพถ่ายในนิทรรศการแล้ว เยาวชนคนรุ่นใหม่ยังเข้าร่วมรับฟัง การเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวความเป็นมอญของเครือญาติทาง ชาติพันธุ์มอญในแถบลุ่มน้ำแม่กลอง ซึ่งผู้จัดงานเชื้อเชิญผู้อาวุโส และผู้เชี่ยวชาญเรื่องมอญ อาทิ อาจารย์โสภณ นิไชยโยค อาจารย์อำไพ มัฆมาน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้เกี่ยวกับมอญ ในเรื่องราวประวัติศาสตร์ ภาษา อาหารและพิธีกรรม ช่วยจุดประกายสายธารวัฒนธรรมมอญสู่สายเลือดใหม่



งาน ประสบผลสำเร็จอย่างน่าภาคภูมิใจ จากความ ร่วมมือของคนในชุมชนทุกเพศทุกวัย สร้างความอบอุ่นในหัวใจโดยเฉพาะ สายเลือดใหม่ชาวมอญ

มอส อุกฤษฏ์ นิลใบ หนุ่มน้อยวัย 15 ปี หนึ่งในกำลังสำคัญ เผยความรู้สึกว่า ดีใจครับที่บ้านเราจัดงาน หลายๆ อย่างในนิทรรศการทำให้เด็กๆ อย่างพวกผมได้รู้จักเรื่องราวของคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ หลายๆ ภาพที่ผมและเพื่อนๆ ช่วยกันปะติดเพื่อจัดแสดง ทำให้ผมได้เห็นเรื่องราวในอดีต จากคำพูดคุยของผู้คนในแต่ละบ้านที่เข้า มาชม ทำให้ผมได้รู้เรื่องราวของภาพ และภูมิใจเพราะหลายภาพเป็นภาพที่ผม เป็นคนติด

ช็อป วัชรพงษ์ อ่วมสอาด กล่าวถึงสาเหตุที่สนใจเข้ามาร่วมงานว่า เพื่อนชวนมาครับ เป็นช่วงปิดเทอมเลยว่าง เห็นพี่ๆ พากันเตรียมงาน น่าสนุกดี ผมมีหน้าที่ปะติดภาพ และช่วยจัดสถานที่ เหนื่อยแต่ภูมิใจมากๆ ที่สำคัญทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น ภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชุมชนครับ

เช่นเดียวกันกับ กอล์ฟ พูนทรัพย์ ใจรัก ลูกหลานมอญนครชุมน์แท้ๆ อายุ 15 ปี บอกว่า ภูมิใจมากครับ พ่อและแม่ผมเป็นมอญ ผมพูดมอญไม่ได้มากนักแต่ฟังได้ครับ รู้เรื่องมอญบ้างไม่รู้บ้าง แต่เมื่อผมได้เข้ามาช่วยจัดงานนิทรรศ การครั้งนี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของบ้านตัวเอง ยิ่งเมื่อผมได้ดูภาพและสารคดีที่ฉายทำให้ผมภูมิใจและรักความเป็นม อญ เข้าใจวิถีชีวิตมอญมากขึ้น

ไม่ต่างกันกับลูกหลานมอญวัย 19 ปี ตี๋ สุบิน เกษเจริญ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัย ราชภัฏนครปฐม กล่าวว่า ตอนแรกผมก็ไม่นึกว่านิทรรศ การจะออกมาดูดีอย่างนี้ คิดว่าเหมือนการจัดบอร์ดให้ความรู้ที่เคยเห็น ทั่วๆ ไป แต่เมื่อพี่ๆ และ น้า คมสรร ประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญ นครชุมน์อธิบายให้ฟังว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ผมจึงสนใจและยินดีช่วยงาน

"ผมภูมิใจและคิดว่างานนิทรรศการในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบและจุด ประกายความคิดให้เยาวชนที่จะทำงานให้กับชุมชนต่อๆ ไป"

ภาพ ความตั้งใจ ความภูมิใจและรอยยิ้มของผู้ใหญ่และเด็กๆ ในวันนั้น

คือ "ภาพใหม่ล่าสุด" ที่ปะติดขึ้นในหัว ใจของ "รามัญแห่งสยาม"


--

No comments: