Google
 

Wednesday, January 9, 2008

"บัวหลวง" เล็งโขกค่าธรรมเนียม "เอทีเอ็ม" รับปีใหม่ กดข้ามแบงก์เจอทันที 5 บ.

3 มกราคม 2551
แบงก์กรุงเทพใจกล้า ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมกดเอทีเอ็มข้ามธนาคารเกินกว่า 4 ครั้งต่อเดือน เป็นครั้งละ 5 บาทต่อรายการ จากเดิม 3 บาท และเก็บค่าธรรมเนียมกดเอทีเอ็มข้ามธนาคารข้ามเขตในต่างจังหวัด เป็น 25 บาทจาก 20 บาท ขณะที่แบงก์อื่นไม่ขยับ ด้านผู้บริหารธปท.ยอมรับคุมไม่ได้ เหตุต้นทุนการดำเนินธุรกิจแต่ละแห่งต่างกัน เผยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างวางแผนที่จะรื้อระบบค่าธรรมเนียมแบงก์ทั้งหมด ให้เหมาะสมกับต้นทุนที่แท้จริง

แหล่งข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2550 ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ได้เตรียมปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการให้บริการถอนเงินข้ามธนาคารผ่านเอทีเอ็มระหว่างธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นครั้งละ 5 บาทต่อรายการ จากตามปกติ หากประชาชนผู้ถือบัตรเอทีเอ็ม กดเงินจากเอทีเอ็มของต่างธนาคารในแต่ละเดือนเกินกว่า 4 ครั้ง ครั้งต่อไปจะเก็บค่าบริการครั้งละ 3 บาทต่อรายการ และปรับเพิ่มค่าบริการการกดเงินข้ามธนาคารผ่านเอทีเอ็มในต่างจังหวัด จากเดิมครั้งละ 20 บาทต่อรายการ เป็น 25 บาท โดยในขณะนี้พบว่ามีเพียงธนาคารเดียวที่ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมดังกล่าว

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า การปรับ ขึ้นค่าธรรมเนียมจาก 3 บาทเป็น 5 บาท หากลูกค้าเบิกถอนเงินผ่านเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารอื่นเกิน 4 ครั้งนั้น จะทำให้ผู้ถือบัตรเอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพจะต้องเสีย ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 บาทต่อรายการ ซึ่งน่าจะกระทบต่อลูกค้าจำนวน มาก เนื่องจากธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารขนาดใหญ่มีลูกค้าผู้บัตร เอทีเอ็มมากกว่า 5 ล้านบัตร และมีบัตรเดบิตอีกประมาณ 1.4-1.5 ล้านบัตร

ด้านผู้บริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวยอมรับว่า การปรับเพิ่มอีก 2 บาท และขยายเวลาให้อีก 1 วันนั้น เพราะลูกค้าของธนาคารมีมากและใช้บริการธนาคารอื่นประมาณ 70-80% ทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายในการชำระเงินกันสูง และการปรับขึ้นมา ก็น่าจะทำให้ลดภาระและทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยแค่ 30-50 ล้านบาท

เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังธนาคารอื่น เช่น ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารไทยธนาคาร และธนาคารไทยพาณิชย์ พบว่ายังคงเก็บค่าบริการการกดเอทีเอ็มต่างธนาคารทั้งในเขตเดียวกัน และข้ามเขตในต่างจังหวัด สำหรับบัตรเอทีเอ็มของธนาคารในอัตราเดิม ยังไม่ได้ปรับขึ้นค่าบริการแต่อย่างใด

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามฝ่ายระบบการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ถึงการปรับขึ้นค่าบริการดังกล่าว ซึ่งฝ่ายชำระเงิน ธปท.ชี้แจงว่า การเก็บค่าบริการการกดเอทีเอ็มข้ามธนาคารนั้น ธปท.ไม่ได้มีการกำหนดค่าบริการ และการขึ้นค่าบริการดังกล่าวนั้น ไม่จำเป็นต้องขอมายัง ธปท.ก่อนการปรับขึ้น เพียงแต่จะต้องประกาศการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ลูกค้าทราบอย่างน้อยที่สุด 30 วัน โดยแปะประกาศการปรับขึ้นไว้ในที่เห็นชัดเจน ที่บริเวณสาขาของธนาคารพาณิชย์นั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกรุงเทพนั้น ยืนยันว่าได้มีการแปะประกาศดังกล่าวให้ลูกค้าทราบแล้ว ก่อนการปรับขึ้น 30 วัน โดยเป็นการประกาศที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ และสาขาสำคัญๆ ซึ่งหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่ ธปท.กำหนด การปรับขึ้นก็เป็นเรื่องของแต่ละธนาคารที่สามารถทำได้ เพราะอาจจะมีความจำเป็นทางต้นทุนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารขนาดใหญ่ มีลูกค้าที่ใช้บัตรเอทีเอ็มมากที่สุดเป็นอันดับแรก หากลูกค้านำเอทีเอ็มของธนาคารไปกดที่ตู้เอทีเอ็มของธนาคารอื่น ธนาคารกรุงเทพจะต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับธนาคารที่ให้บริการ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีการปรับขึ้นค่าบริการ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและลดปริมาณการกดเอทีเอ็มต่างธนาคารของลูกค้าไปในตัวด้วย

นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายระบบข้อสนเทศ ธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธปท.อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาระบบชำระเงินฉบับใหม่ที่จะเริ่มต้นในปี 2553 ซึ่งจะเป็นการรื้อระบบอัตราค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์ที่เกี่ยวกับการชำระเงิน และอัตราค่าธรรมเนียมส่วนอื่น ที่ฝ่ายนโยบายสถาบันการเงินดูแลอยู่ เพื่อที่จะทำให้ระบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับต้นทุนของการให้บริการจริง โดยในเบื้องต้น ธปท.ต้องการให้เกิดการแข่งขันในการเก็บอัตราค่าธรรมเนียมไม่ให้ฮั้วกัน หรือมีการผูกขาดจัดเก็บในอัตราเดียวกันทุกธนาคาร เพราะทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือกและเสียประโยชน์

No comments: